ตอนแรกที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผมไม่คิดว่ามันจะมีอะไรตื่นตาตื่นใจมากเท่าไร หลายๆคนก็อาจจะเคยดูหนังสือเจงกีสข่านแล้วก็ได้ แต่พออ่านๆไป ผมกับคิดว่า โหหหหห ไม่น่าเชื่อเลยนะว่า หลายๆเรื่องที่เราคิดอยู่ในปัจจุบัน เขาคิดกันตั้งแต่พันปีมาแล้วววววว
ใครจะเชื่อว่าเจงกีสข่านนี่แหละ ที่เริ่มคิดเรื่องการค้าเสรี เสรีภาพในการนับถือศาสนา กฏหมายที่ควบคุมทุกคนในโลก รวมไปถึงภาษาที่ใช้ในการติดต่อ เรื่องเหล่านี้นั้นเจงกีสข่านนั้นทำมาแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงศิลปะวิวัฒนาการที่ท่านข่านผู้ยิ่งใหญ่นั้น ทำให้โลกเปลี่ยนโฉมหน้า อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หนังสือเรื่องเจงกีสข่านเล่มนี้เขียนโดยมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่ไปหาข้อมูลของเจงกีสข่านไปทั่วมองโกเลียถึงสิบกว่าปีชื่อ Professor Jack Weatherford แห่ง Macalester College
บล็อกอันนี้จะเริ่มตั้งแต่ตอนที่เจงกีสข่านเป็นเด็กจนถึงเริ่มรวบรวมเผ่ามองโกลเข้าด้วยกัน
หลายๆท่านถ้าติดตามหนังจีนกันมาก่อนอาจจะเคยดูเรื่องเจงกีสข่านกันมาแล้ว (แหม บล็อกนี้อาจจะเป็นบล็อกเช็คอายุได้เลยเหมือนกันนะครับเนี่ย) ก็อาจจะพอรู้ว่าเจงกีสข่านเนี่ยชื่อจริงตอนเด็กๆก็คือเตมูจิน
เตมูจินนี่เป็นเด็กที่น่าสงสารนะครับ เพราะแม่ของเตมูจินเองก็เป็นเมียคนที่สามของพ่อ พ่อเองก็ไม่ได้สนใจแม่ของเตมูจินเองแล้วก็ตัวเตมูจินสักเท่าไร ในขณะเดียวกันพ่อของเตมูจินก็ตายไปตั้งแต่ตัวเตมูจินยังแค่ 9 ขวบ
อ่านแค่นี้ก็เห็นถึงความรันทดแล้วใช่ไหมครับ แต่แม่เตมูจินเนี่ยถูกฉุดมานะครับ ไม่ได้เต็มใจมา Dr. Weatherford เล่าว่าพวกมองโกลเนี่ยจะไปแต่งงานก็ต้องเอาสินสอดไปให้ ถ้าไม่มี ผู้ชายก็ต้องไปเป็นแรงงานที่บ้านผู้หญิง แต่ถ้าขี้เกียจสุดๆแล้วก็จนไม่มีเงิน ก็ไปปล้นแย่งภรรยา ลูกสาวคนอื่นมาเป็นภรรยาครับ
เอาละครับพอพ่อเสีย (พ่อเตมูจินตายจากการโดนวางยาโดยเผ่าตรงข้ามครับ) เผ่าของเตมูจินเองก็แอบหนีครอบครัวเตมูจินไปครับ เพราะมองว่าครอบครัวของพ่อเตมูจินนี่คนเยอะกินจุ (ก็มีหลายท้องนี่ครับ เกือบ 10 คน) พอคนในเผ่าหนี เตมูจินกับครอบครัวก็ไม่ค่อยมีอะไรทานเนื่องจากสภาพอันแห้งแล้งของทุ่งหญ้า steppe ก็ต้องกินหนู (แต่ผมว่าอันนี้ดูน่ากลัวไปนิด ผมว่ามันอาจจะเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกับหนูมั้งครับ) หรือบางทีหาอะไรกินไม่ได้ก็กินซากสัตว์
พอพ่อเสียไปแล้ว พี่ชายต่างแม่ของเตมูจินก็เป็นใหญ่ ซึ่งใหญ่ขนาดสามารถที่จะแต่งงานกับแม่เตมูจินได้เลยนะครับ แล้วก็ชอบกดขี่เตมูจินด้วย ทำให้เตมูจินไม่พอใจ แล้วก็วางแผนกับน้องแท้ๆของตัวเองเจื๋อนพี่ชายซะ พอเจื๋อนพี่ชายเสร็จ ก็โดนเผ่าอื่นๆไล่ตามแล้วก็โดนจับไปเป็นทาสครับ แต่หลังจากเป็นทาส พี่แกก็หนีมาได้ แล้วหลังจากนั้นเตมูจินก็พยายามก้าวเข้าไปเรื่อยๆที่จะเป็นท่านข่านที่ยิ่งใหญ่
เหตุการณ์ที่สำคัญๆที่ทำให้เตมูจินกลายร่างมาเป็นท่านข่านก็มี
ฆ่าพี่ชายต่างมารดา เพื่อที่จะเป็นใหญ่ในครอบครัว
เมื่อเมียถูกฉุด ก็ไปตามฆ่าเผ่าที่มาฉุดเมียตัวเอง
ฆ่าเผ่าที่ฆ่าพ่อตัวเองตาย
ล้างเผ่ามองโกลอื่นๆเพื่อที่ตัวเองจะได้เป็นใหญ่
ตามฆ่าพ่อบุญธรรมของตัวเองที่แก่แล้ว เนื่องจากว่า เตมูจินนั้นขอเป็นทองแผ่นเดียวกันโดยการขอลูกสาวพ่อบุญธรรมมาแต่งงานกับลูกชายตัวเอง แต่พ่อบุญธรรมดันจะฆ่าเตมูจินซะนี่
ฆ่าเผ่าไนแมน (Naimann) เพราะว่าพระราชินีของเผ่าไนแมนนั้นดูถูกคนมองโกล
ฆ่าเพื่อนร่วมสาบานที่ชื่อ Jamuka ผู้นำเพื่อนรักคนสุดท้ายของเผ่ามองโกล
เห็นแล้วก็ดูเหี้ยมๆยังไงชอบกลนะครับ แต่สมัยก่อนเมื่อคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ดังนั้นก็ไม่แปลกใช่ไหมครับที่ผู้นำสมัยก่อนต้องพยายามทำให้คนเผ่าอื่นๆกลัว ไม่มีทรัพยากรมาต่อต้านได้
แต่เมื่อเจงกีสข่านนั้นรวมเผ่ามองโกลได้แล้ว เขาทำอะไรบ้าง วิธีที่ Dr. Weatherford นั้นพูดถึงก็คือเรื่องการออกกฏหมายครับ เขาบอกว่ากฏหมายที่สำคัญๆนั้นมีดังนี้ครับ
ห้ามการลักพาตัวผู้หญิง อันนี้ก็อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า ถ้าไม่อยากทำงาน ไม่มีเงิน วิธีก็คือการลักพาตัวผู้หญิงมาเป็นภรรยา เมื่อลักพาตัวมาแล้ว ผู้ชายส่วนมากก็หนีครับ แล้วก็เกิดเป็นวัฏจักรหนังจีน ตามล้างตามฆ่าตามเช็ดกันไปเรื่อยๆ
ลักพาตัวคนมาเป็นทาส
ห้ามขโมยสัตว์ครับ ถ้าสัตว์เลี้ยงหายไม่ว่าจะของใครก็ตาม ทุกคนในเผ่าต้องช่วยกันตามหามาคืนเจ้าของ โทษของการขโมยคือการประหารครับ
ห้ามมีชู้ แต่อันนี้เขาบอกว่า ถ้าไม่มีปัญหาระหว่างครอบครัว ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีปัญหาก็ถือว่าผิด
ห้ามฆ่าสัตว์ตอนเดือนมีนากับตุลา เหตุผลก็คือฤดูผสมพันธุ์ แต่ถ้าหน้าหนาวก็มีโควต้า ห้ามล่าเกินกว่าที่พอกินพออยู่
ให้สิทธิคนนับถือต่างศาสนาได้ ไม่ต้องมานับถือศาสนาเดียวกันหมด
อันนี้นี่เขาบอกว่าก่อนที่เตมูจินนั้นจะไปตามฆ่าพ่อบุญธรรมนั้น พ่อบุญธรรมเตมูจินนั้นตามฆ่าเตมูจินก่อนครับ ไล่กระเจิดจากเผ่าที่มีคนกว่า 8พัน เหลือแค่ 19 คนครับ 19คนที่หนีการตามล่าของพ่อบุญธรรมนั้น มาจาก 9 เผ่า มีมองโกลแค่ 3 คน ก็คือตัวเตมูจินเองกับน้องอีก 2 คน แถมทั้ง 19 คนนั้น มีทั้งนับถือผี นับถือพุทธ นับถือคริสตร์และนับถืออิสลาม
เรื่องนี้นั้นทำให้ เตมูจินนั้นค่อนข้างให้เสรีด้านการนับถือศาสนาครับ
ข่านแต่ละคนนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในเผ่า
Dr. Weatherford บอกว่าถ้าดูจากกฏหมายที่ออกมา ก็ดูเหมือนว่าตัวเตมูจินเองนั้นเอาประสบการณ์ตัวเองมาออกกฏหมาย อ่านแล้วก็เหมือนศีลของพระสงฆ์นะครับ ที่พระพุทธองค์จะไม่บัญญัติก่อน ต้องมีเรื่องก่อนแล้วค่อยบัญญัติ
อ่านมาถึงตรงนี้นั้นไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า ความคิดของเจงกีสข่านเมื่อ พันกว่าปีมาแล้ว นั้นทันสมัยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่คนยุคปัจจุบันนั้นเพิ่งมาตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้หรือไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งข่าน ที่ก็เน้นความเป็นประชาธิปไตย
แล้ววิธีการควบคุมประชาชนของเจงกีสข่านก็ใช้วิธีให้ครอบครัวคุมสมาชิกกันเอง ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งทำผิดกฏหมาย ครอบครัวนั้นอาจจะโดนทำโทษไปด้วย ก็คงไม่เหมือนสมัยนี้ที่ต่างคนต่างอยู่ พ่อแม่ฝากลูกไว้กับคุณครูหรือโรงเรียน แต่เนื่องจากโรงเรียนก็คนเยอะ นักเรียนเยอะ ครูก็โยนกลับไปที่พ่อแม่ โยนกันไปโยนกันมาเรื่อยๆ
แต่ที่น่าสนใจก็คือในทุ่งหญ้ากว้าง เผ่าพันธุ์มากมายที่รบราฆ่าฟันกันตลอด ทำไมยอมอยู่ภายใต้การปกครองของเจงกีสข่าน
Dr. Weatherford นั้นบอกว่า เพราะเจงกีสข่านนั้นไม่ธรรมดาครับ เขาผสมผสานความรู้จากอดีตกับสิ่งที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา เช่น
ยกเลิกการตอบแทนโดยระบบสายเลือด แต่เน้นผลงานและความภักดี
เวลาไปปล้นเผ่าต่างๆนั้น ส่วนมากคนมองโกลจะเห็นแก่ของมากกว่า คือพอคนหนีก็หนีไปครับไม่ตาม แต่จะสนเก็บของ แต่เจงกีสข่านนี้ไม่ครับ เน้นจับคนที่หนี ฆ่าคนที่หนี พอเสร็จแล้วค่อยมาตามเก็บของ
แต่ที่น่าตะลึงยิ่งกว่าคือ พอเก็บของได้กลับต้องเป็นของกอง กลาง รอแบ่งโดยผลงานอย่างที่บอกไปแล้วในข้อ 1 ยิ่งไปกว่านั้น เจงกีสข่านนี่แหละครับคนแรกที่ให้สวัสดิการลูกเมียของทหารที่โดนฆ่า เมื่อตัวเองนั้นปันส่วนไปให้ลูกเมียของทหารที่โดนฆ่าด้วย
เมื่อขัดกับประเพณีดั้งเดิมก็มีคนไม่พอใจมาก
วิธีต่อมาก็คือฆ่าหัวหน้าครับ แล้วก็รับลูกน้องของแต่ละเผ่ามาเป็นลูกน้องของตัวเอง วิธีการก็คือให้มีการทำมติกองกลางของลูกน้องว่ายอมรับเจงกีสข่านเป็นหัวหน้า (ดูเป็นประชาธิปไตยไหมครับ)
จัดกำลังทหาร เจงกีสข่านนั้นถือเป็นคนแรกๆครับที่คิดระบบ จัดหมู่ขึ้น คือแต่ละหมู่มี 10 คนเรียกว่า arban, 10 หมู่ เป็นกองร้อยเรียกว่า zagun, 10 กองร้อยเป็นกองพันที่เรียกว่า mingen แล้ว 10 กองพันเป็น 1 กองพลที่เรียกว่า tumen ซึ่งใน tumen นี้ หัวหน้านั้นจะเป็นคนที่ท่านข่านเลือก แต่นอกนั้นให้เลือกกันเอง แล้วไอ้หมู่ที่จัดนี่ก็จะมาจากคนหลายๆเผ่ามารวมกันครับ ไม่ใช่เอาแค่เผ่าเดียว เพราะว่ากลัวคุมไม่อยู่ครับ
การวางแผนการรบ จากแต่ก่อนที่เน้นจำนวนคน มาเป็นเน้นยุทธการเพราะคนมองโกลนั้นน้อยครับ แล้วก็เป็นเจงกีสข่านนี่แหละครับ ที่คิดเรื่อง wave formation หรือการเรียงแถวหน้ากระดาน 2 แถวหรือมากกว่า แล้วคอยสลับกันยิงปืนหรือธนูครับ (ถ้าดูหนังฝรั่งพวกสมัยนโปเลียน หรือสมัยสงครามปฏิวัติอเมริกาหรือสงครามกลางเมืองจะเห็นครับ)
ลักษณะเด่นของเจงกีสข่านนั้นก็คือ
ความทะเยอทะยานและไม่อยากอยู่ใต้อำนาจใคร ก็แหมขนาดพี่ชายต่างมารดายังฆ่ากันได้ แล้วคนอื่นจะเหลือหรอครับ
ความเป็นคนมีศิลปะในการจูงใจ อันนี้เห็นได้จากการที่เจงกีสข่านนั้น หลอกล่อคนที่จับเขามาเป็นทาส พยายามผูกมิตรแล้วก็หนีมาได้
สร้างข่าว วิธีการรบของท่านข่านนั้น ท่านข่านใช้โฆษณาชวนเชื่อด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโม้ว่าทัพท่านนั้นเกรียงไกร พระเจ้านั้นช่วยเหลือ รวมไปถึงโม้กับทัพตัวเองว่าชาติอื่นนั้นดูถูกทำให้ทหารของท่านข่านนั้นฮึดมากผิดปกติ
เป็นนักนวัตกรรมครับ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดพิสดารที่คนไม่คิด แหกคอกอย่างการไม่สนใจระบบญาติ เน้นความภักดี แบ่งสมบัติที่หามาได้ให้ลูกเมียทหารที่เสียชีวิต แล้วก็คิดระบบไปรษณีย์ด้วยนะครับ
พูดถึงระบบไปรษณีย์ วิธีของท่านข่านก็ง่ายๆครับ คือตั้งสถานีห่างกัน สถานีละ 20-25 ไมล์ ก็ประมาณ 30-40 กม ครับ แล้วแต่ละสถานีก็มี 25 ครอบครัวดูแลส่งข่าว อ่านแล้วไม่ต่างจากระบบของ FedEx เลยใข่ไหมครับ ที่มีศูนย์กลาง หรือ hub เป็นตัวแยกและกระจาย ส่งพัสดุต่อ
อาจารย์สมพรเคยเขียนบล็อกไว้ที่นี่ครับว่าหากเราเขียนบทความกันวันละ 5-6 บทความ มันจะหมดเรื่องเขียนไหม ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะคิดเหมือนผมไหมครับว่า มีกี่เรื่องที่มันใหม่ ใหม่จริงๆที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
โดยส่วนตัวที่ผมเชื่อว่าความรู้หลายๆอย่างนั้นมันค่อนข้างซ้ำเดิมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการจัดการ ยกต้วอย่างเช่นหลักการของ อสังหารริมทรัพย์ที่เน้นเรื่องที่ตั้งของโครงการ มันก็คงไม่ต่างอะไรไปจากการที่เมืองหลวงของหลายๆประเทศที่ตั้งมา หลายร้อยปี ก็เน้นที่จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เพียงแต่เราไม่เคยคิดที่จะ formalize ความรู้เก่าๆที่มีมา
หรือ Customer relaitionship management ที่ผมมองยังไงก็ไม่ต่างการเอื้อน้ำใจ สร้างความประทับใจให้แขก แบบที่เราเคยได้ยินมา หรือว่าอาจจะเห็นกันอยู่ในชนบทห่างไกล
แล้วพอเรา formalize ความรู้เก่า แล้วก็เพิ่มคำหรูหราไปซะ มันก็กลายเป็นความรู้ใหม่ ฮิตติดลมบน อย่างเช่น Just in Time ที่ข้อคิดก็มาจากร้าน supermarket ที่พอของหายไปจากหิ้งขายของก็มีพนักงานมาเอาของมาเติมเพิ่มแค่นั้นเอง
ที่มา: Weatherford, J. Genghis Khan, Three river press, NY, 2004. ISBN: 0-609-80964-4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น